
คนเป็นเบาหวานที่มีน้ำหนักเกิน มักมีภาวะกล้ามเนื้อน้อยโดยไม่รู้ตัว ซ้ำร้ายการเป็นเบาหวานก็ทำให้มวลกล้ามเนื้อลดลง มีปัญหาการควบคุมอินซูลิน ทำให้ร่างกายนำน้ำตาลไปใช้เป็นพลังงานได้แย่ลงไปด้วย ร่างกายจึงต้องไปดึงโปรตีนจากกล้ามเนื้อมาใช้แทน การที่ร่างกายมีมวลกล้ามเนื้อน้อยนั้นส่งผลต่อระบบการเผาผลาญ ทำให้ควบคุมน้ำตาลยากขึ้นไปอีก เมื่อคุมน้ำตาลได้ไม่ดีก็นำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนต่างๆในร่างกาย เช่น ไตเสื่อม ตาเสื่อม และเส้นประสาทเสื่อม เป็นต้น ดังนั้นคนที่เป็นเบาหวานหรือน้ำตาลในเลือดสูง ควรได้รับโปรตีนมากกว่าคนทั่วไป เพื่อป้องกันภาวะกล้ามเนื้อน้อย และช่วยให้ร่างกายเผาผลาญพลังงานได้ดีขึ้น
กล้ามเนื้อสำคัญขนาดไหน ทำไมคนเป็นเบาหวานควรมีมวลกล้ามเนื้อเยอะๆ
กล้ามเนื้อเป็นแหล่งที่ร่างกายใช้ในการเก็บและเผาผลาญน้ำตาลในเลือดให้กลายเป็นพลังงาน เมื่อเป็นเบาหวาน การทำงานของฮอร์โมนอินซูลินบกพร่องทำให้เกิดการสลายโปรตีน และยับยั้งการสร้างโปรตีนส่งผลให้มวลกล้ามเนื้อลดลง นำไปสู่ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงขึ้น ซึ่งหากเป็นแบบนี้ไปนานๆร่างกายจะเกิด ‘ภาวะดื้ออินซูลิน’ ได้ นำไปสู่การอักเสบของอวัยวะต่างๆของร่างกายอีกด้วย
ในทางตรงกันข้าม หากร่างกายมีมวลกล้ามเนื้อเยอะๆจะช่วยเพิ่มการเผาผลาญ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง หรือคุมได้ดียิ่งขึ้น ช่วยลดโอกาสที่ร่างกายจะเกิดภาวะดื้ออินซูลินซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของเบาหวานชนิดที่ 2

เป็นเบาหวานเลือกทานโปรตีนอย่างไรให้เสริมสร้างกล้ามเนื้อ ?

คนที่เป็นเบาหวานมักถูกบอกให้คุมอาหารทุกสิ่งอย่าง จนบางครั้งอาจทำให้ได้รับสารอาหารไม่พอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘โปรตีน’ แม้ว่าโปรตีนอาจไม่ได้ส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดตรงๆเหมือนอาหารหมวดข้าว-แป้ง แต่การรับประทานโปรตีนคุณภาพดี ซึ่งรวมถึง BCAAs (Branched-Chain Amino Acids) หรือกรดอะมิโนชนิดโซ่กิ่ง ในปริมาณที่เหมาะสมนั้นช่วยเสริมสร้างและคงสภาพกล้ามเนื้อ ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยคุมระดับตาลได้ ที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยเพิ่มการดึงน้ำตาลในเลือดมาใช้ เนื่องจากกล้ามเนื้อเป็นแหล่งที่ร่างกายใช้พลังงานจากน้ำตาลในเลือดมากที่สุด เมื่อเรามีกล้ามเนื้อมากขึ้น ร่างกายจะสามารถดึงน้ำตาลในเลือดมาใช้เป็นพลังงานได้มากขึ้น
แหล่งโปรตีนที่แนะนำสำหรับคนเป็นเบาหวาน

1. ไข่ มีคุณค่าทางอาหารสูง นอกจากโปรตีนแล้วยังมีธาตุเหล็ก ที่ช่วยให้ร่างกายสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง ช่วยป้องกันการเกิดภาวะโลหิตจาง
2. เนื้อสัตว์ มีโปรตีนคุณภาพสูง ช่วยเสริมสร้างและคงสภาพของมวลกล้ามเนื้อ ควรเลือกรับประทานเนื้อสัตว์ที่มีไขมันต่ำ แบบไม่ติดมัน ไม่ติดหนัง โดยเนื้อสัตว์สามารถนำไปประกอบอาหารได้สารพัดเมนู ทั้งผัด อบ ย่าง ต้ม และแกง
- เนื้อแดง เนื้อหมูส่วนสันใน เป็นส่วนที่มีโปรตีนมากกว่าส่วนอื่นแต่กลับมีปริมาณไขมันน้อยที่สุด
- อกไก่ไร้หนัง มีไขมันต่ำ ช่วยลดความเหนื่อยล้าของกล้ามเนื้อ ทำให้ออกกำลังกายได้นานขึ้น
- เนื้อปลา เป็นโปรตีนจากสัตว์ที่ย่อยง่าย มีไขมันดี โดยเฉพาะโอเมก้า-3 ซึ่งมีประโยชน์ ต่อสมองและช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ
3. โปรตีนเวย์ เป็นโปรตีนที่ย่อยง่าย ละลายดี ไม่จับตัวเป็นก้อน สามารถเคลื่อนที่ผ่านกระเพาะลงไปที่ลำไส้ได้อย่างรวดเร็วจึงไม่ทำให้ท้องอืด มีงานวัจัยที่พบว่า โปรตีนเวย์ สร้างกล้ามเนื้อได้เร็วกว่าโปรตีนทั่วไป และเป็นโปรตีนคุณภาพดีที่ดูดซึมได้ไว กทำให้การทำงานของอินซูลินดีขึ้น จึงช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด นอกจากนี้ยังกระตุ้นฮอร์โมน GLP-1 ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมความอยากอาหาร ทำให้รู้สึกอิ่มนานขึ้น และลดการบริโภคแคลอรีโดยรวมในระหว่างวัน ซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพโดยรวม สำหรับผู้เป็นเบาหวาน แนะนำเลือกอาหารสูตรครบถ้วนที่มีโปรตีนเวย์ มากกว่าการกินโปรตีนเวย์ผงโดดๆ เพราะนอกจากจะได้รับโปรตีนคุณภาพดีแล้ว ยังได้รับพลังงาน วิตามิน และแร่ธาตุที่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ดื่มเสริมทดแทนมื้ออาหารได้อีกด้วย

นอกจากโปรตีนแล้ว คนเป็นเบาหวานควรเลือกทานสารอาหารอื่นอย่างไร?
คนเป็นเบาหวานจะยังคงต้องทานให้ครบ 5 หมู่ เลือกคาร์โบไฮเดรตที่ย่อยช้า มีดัชนีน้ำตาลต่ำ ทานวิตามินและแร่ธาตุหลากหลายเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน ไขมันดี เช่นไขมันMUFA ทานใยอาหารช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาล และดีต่อระบบขับถ่าย หากต้องการความสะดวก ปัจจุบันก็มีทางเลือกเช่น อาหารสูตรครบถ้วนที่มีสารอาหารต่างๆ สำหรับคนเป็นเบาหวานหรือผู้ที่ต้องการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ที่สามารถทานเสริมเป็นมื้อว่าง หรือทานแทนอาหารได้ในวันที่ไม่สะดวกที่จะเตรียมอาหาร
สรุป
การมีมวลกล้ามเนื้อที่เพียงพอมีส่วนช่วยให้ผู้เป็นเบาหวานควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดียิ่งขึ้น มวลกล้ามเนื้อสร้างได้จากการรับประทานอาหารที่สมดุลและหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้รับโปรตีนคุณภาพดีในปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย อย่างเช่น ไข่ เนื้อสัตว์ และโปรตีนเวย์ โดยอาหารสูตรครบถ้วนที่มีโปรตีนเวย์นั้นย่อยและดูดซึมง่าย เป็นทางเลือกที่สะดวกสำหรับผู้ที่มีเวลาน้อยสามารถดื่มเสริมทดแทนมื้ออาหารได้ สิ่งสำคัญคือ สร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง ภูมิคุ้มกันดีขึ้น รักษาระดับน้ำตาลให้ได้ นี่คือหัวใจของการดูแลเบาหวานและควบคุมภาวะน้ำตาลในเลือดสูง
บทความนี้ให้ข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น หากท่านต้องการคำแนะนำและการวางแผนโภชนาการโดยละเอียด แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ หรือนักกำหนดอาหารเพิ่มเติม เพื่อการดูแลแบบเฉพาะบุคคล
แหล่งอ้างอิง - Chen, H. (2023). The Association Between Sarcopenia and Diabetes: From Pathophysiology Mechanism to Therapeutic Strategy. Diabetes, Metabolic Syndrome and Obesity, 16:1541–1554. - L.Adams, R. (2016). Insulinotropic Effects of Whey:Mechanisms pf Action, Recent Clinical Trials, and Clinical Applications. Annals of Nutrition&Metabolism, 69:56-63. - Nestle. (n.d.). 5 เหตุผลที่ เวย์โปรตีน เหมาะกับ ผู้สูงวัย. Retrieved from ttps://www.nestlehealthscience-th.com: https://www.nestlehealthscience-th.com/health-management/aging/whey_benefits - Oficial, T. (2565, เมษายน 19). https://www.thaihealth.or.th/. Retrieved from 9 วิธี ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดเพื่อให้มีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน: https://www.thaihealth.or.th/9-วิธี-ควบคุมระดับน้ำตาล-2/ - POBPAD. (n.d.). อาหารโปรตีนสูง ทางเลือกโภชนาการเพื่อสุขภาพ. Retrieved from https://www.pobpad.com/อาหารโปรตีนสูง-ทางเลือก - POBPPAD. (n.d.). อกไก่ กับประโยชน์ต่อสุขภาพ. Retrieved from https://www.pobpad.com/: https://www.pobpad.com/อกไก่-กับประโยชน์ต่อสุข - POPPAD. (n.d.). Retrieved from ภาวะดื้ออินซูลิน (Insulin Resistance): https://www.pobpad.com/ภาวะดื้ออินซูลิน-insulin-resistance - Shen, Y. (2022). Diabetic Muscular Atrophy: Molecular Mechanisms and Promising Therapies. Frontiers in Endocrinology, 13:917113. - Splenda. (2023, October 02). The Importance of Protein for People with Diabetes. Retrieved from American Diabetes Association: https://diabetesfoodhub.org/blog/importance-protein-people-diabetes - Stenholm, S. (2009). Sarcopenic obesity - definition, etiology and consequences. Curr Opin Clin Nutr Metab Care, 693–700. - กอไพศาล, ผ. น. (2567, กรกฎาคม 26). อะไรจะเกิดขึ้น ถ้าปล่อยให้ น้ำตาลในเลือดสูง. Retrieved from https://www.rama.mahidol.ac.th/: https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงจะ/ - วโนทยาโรจน์, น. (2565, ตุลาคม). ทำไมการออกกำลังกายแบบเวท เทรนนิ่ง เหมาะกับการรักษาเบาหวานชนิดที่ 2. Retrieved from https://www.t2dminsulin.com/: https://www.t2dminsulin.com/health_article/02/ - สุรางค์ศรีรัฐ, ด. เ. (2566). https://www.thaisook.org/. Retrieved from การออกกำลังกายแบบแรงต้าน (Resistance Training) คืออะไร: https://www.thaisook.org/2023/04/04/resistance-training/